กลับบ้านเรา "ลาบ" รออยู่
กลับบ้านเรา
ลาบรออยู่
หนูปู : " แม่ตื๋อ…..หนูซื้อเนื้อแนจ้า "
( แววตานางใสปิ๊ง..เพราะลาบรออยู่ 555 )
แม่ค้า : " เอาจักขีดอิหล่า "
( แม่ค้าถามด้วยใบหน้าอาบยิ้ม...เพราะเงินลอยมาแต่เช้ามืด )
หนูปู : " เอา 3 ขีดจ้า...เอาหอมใส่
ลาบนำแน "
( ตอบแม่ค้าสายตาก็พรางสำรวจสินค้าไปทั่วร้าน แต่จิตใจก็จดจ่ออยู่กับ " ลาบ ลาบ ล้าบบบ " 5555 💥ปอบ... เปล่า❗ คนนี่แหละค่ะ ตัวยังอุ่น ๆ อยู่ 😂😂😂 )
บทสนทนาข้างต้นเป็นของปูและแม่ค้าร้านขายของชำประจำหมู่บ้าน เป็นการถามตอบไม่กี่คำ แต่ทุกคนเชื่อไหมคะว่าปูใช้มาสามสิบกว่าปีแล้ว 555555 ไม่แปลกแต่จริงค่ะ เพราะปูช่วยแม่ทำกับข้าวประจำ หน้าที่ออกไปซื้อของส่วนมากจะตกเป็นของปู เวลาไปซื้อกับข้าวก็จะเป็นเมนูเดิม ๆ ปริมาณเท่าเดิม เพราะสมาชิกในบ้านเท่าเดิม 5555 และความถี่ของแต่ละเมนูก็ขึ้นอยู่กับว่าโอกาสนั้น ๆ พิเศษแค่ไหน อย่างเมนูลาบก็จะได้กินเดือนละครั้งเวลาแม่ไปรับเงินเดือนพ่อที่ส่งมาให้จากเมืองนอก หรือมากหน่อยก็สองครั้ง เวลามีงานแต่งงานหรืองานศพที่หมู่บ้าน เจ้าของงานจะจัดถุงใส่ลาบไว้ เพื่อเป็นการตอบแทนแขกที่ไปร่วมงาน ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้คนแถวบ้านปู และปูเชื่อว่าตามบ้านนอกในภาคอีสานก็น่าจะคล้าย ๆ กัน คือห่อของกินไว้ให้แขก และของกินที่ว่าก็จะมีลาบรวมอยู่ด้วย เห็นไหมคะว่าลาบนั้นสำคัญไฉน 555
ในสมัยก่อนเป็นยุคแรก ๆ ที่คนในแถบภาคอีสานเริ่มไปขายแรงงานที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศลิเบียและประเทศซาอุดิอาระเบีย จนเกิดเพลง " น้ำตาเมียซาอุ " ของนักร้องชื่อดังในอดีต พิมพา พรศิริ ขึ้นมาและฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ร้องกันได้ เพราะนอกจากจะได้ยินตามวิทยุแทบทุกวันแล้ว เวลามีงานบุญก็จะมีเพลงนี้เปิดตลอด ถ้าใครอยากรำลึกความหลังหรืออยากลองฟังเพลง " น้ำตาเมียซาอุ " กดตามลิ้งด้านล่างได้เลยค่ะ
โป๊ก ! โป๊ก ! โป๊ก ! โป๊ก ! เสียงมีดโต้กระทบกับเขียง ได้ยินไกลถึงสามบ้านสี่บ้าน ที่แน่ ๆ ผู้คนในคุ้มเดียวกันรู้เลยว่าบ้านหลังไหนทำลาบกิน 55555 อ๊ะ ! แต่ก็ไม่แน่นะจ๊ะคุณผู้อ่าน เวลาได้ยินเสียงสับดังโป๊ก ๆ จะรีบอุ้มกระติ๊บข้าวหวังมากินลาบกับข้างบ้าน บางทีอาจจะมาเจอเมนูปลาร้าสับก็เป็นได้นะคะ 555555 เพราะฉะนั้นอย่าเผลออุ้มกระติ๊บข้าวออกจากบ้านไปแบบไม่ลืมหูลืมตาค่ะ 5555 เมื่อเสียงโป๊ก ๆ ดังที่บ้านเมื่อไหร่ก็อยากจะบอกทุกคนว่า บ้านฉัน... ‼ บ้านฉัน ‼ 5555 แล้วบางทีก็จะโดนญาติผู้ใหญ่ข้างบ้านคอยพูดเหย้าแหย่ตลอดทั้งวันว่า " ป้าด ! แจแมนได้กินลาบเนาะมื้อนี้ อักอยู่อักกินบ่เอิ้นบ่ปาก " 5555 แปลเป็นภาษาไทยกลางว่า " โอ้โฮ! …..😵 ห่าน❗ แปลต่อไม่ได้ 😂😂😂 จะแปลทีไรทำไมหัวมันแล่นมาเป็นภาษาอีสานตลอดเลย ใครเคยเป็นบ้างคะ 😂😂😂 งั้นปูขอแปลความหมายรวมแล้วกันนะคะ ใจความได้มาอย่างนี้ค่ะทุกคน " แหม ! วันนี้ได้กินลาบเชียวนะ แอบกินไม่ชวนกันเลย " นับว่าเป็นการโดนล้อที่มีความสุขมากค่ะ
" ลาบ " เป็นอาหารที่ทำง่ายมาก เราสามารถทำลาบอะไรก็ได้ขอให้มีเครื่องปรุง ไม่จะเป็นลาบปลา, ลาบเป็ด, ลาบไก่, ลาบหมู, ลาบวัว, ลาบควายหรือแม้กระทั่งลาบเทาซึ่งเป็นสาหร่ายน้ำจืด ที่หาได้ตามแหล่งน้ำนิ่งและไหลช้า ที่สำคัญน้ำต้องสะอาดด้วยค่ะ ส่วนมากจะพบเทาได้ในช่วงกลางฤดูฝน ปูจำได้ครั้งหนึ่งเคยไปกินข้าวเที่ยงกับป้าที่ทุ่งนา แล้วลุงก็พาไปเก็บเทาที่ลำห้วย น้ำในลำห้วยใสและเย็นสดชื่นมากเลยค่ะ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความเขียวขจีของต้นข้าว กลิ่นหอมของต้นข้าว, ต้นหญ้าและผักต่าง ๆ ในทุ่งนาหอมตลบอบอวล โดยเฉพาะผักแขยงจะหอมมากเป็นพิเศษใส่อ่อมหอย หรือแกงหน่อไม้นี่ อืมมม...ใช่เลย..ว่าแล้วก็อยากกิน 5555 สำหรับเมนูลาบเทาใครอยากดูวิธีทำกดได้ตามลิ้งด้านล่างเลยค่ะ ถ้ามีโอกาสได้ลิ้มลองก็อย่ารอช้าค่ะ แซ่บบอกต่อได้เลย
อย่างที่บอกค่ะว่าลาบเราสามารถนำมามาดัดแปลงปรุงได้หลายเมนูมาก ๆ ปัจจุบันมีหลายคนพลิกแพลงทำลาบทอดก็มี ลาบปลาแซลมอนก็เยอะ แม้แต่ขนมขบเคี้ยวยังมีรสลาบแล้วด้วย เรียกได้ว่าสะดวกแบบไหนชื่นชอบรสชาติแบบใด Fusion กันเต็มที่เลยค่ะ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ผู้คนต่างมีเวลาให้กันน้อยลง วิถีชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนไป ไม่เว้นแม้แต่อาหารการกิน ซึ่งเมื่อก่อนบางเมนูนาน ๆ ถึงจะมีโอกาสได้กิน อาจจะด้วยกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น หรือจะด้วยตลาดสินค้าที่เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ผู้คนนึกอยากจะกินอะไรเมื่อไหร่ก็ได้ แต่สำหรับบ้านปูเมนูลาบยังคงครองตำแหน่งเมนูต้อนรับการกลับบ้านของคนในครอบครัวทุกครั้ง " ลาบนอกจากจะเป็นเมนูที่อร่อยเหาะแล้วยังเป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวกันของครอบครัว, ญาติมิตรและเพื่อนฝูงอีกด้วย " ค่ะ
" กลับบ้านเราลาบรออยู่ "
ขอบคุณทุกคนที่เดินทางมาเป็นเพื่อนปูจนถึงบ้านนะคะ
แล้วพบกันใหม่ค่ะ
กับปู Diary On Tour
#อีสานพันทาง #ลาบ #อาหารอีสาน #ชีวิตอีสาน #วัฒนธรรมอีสาน #Diary On Tour #คิดถึงบ้าน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น