บุญข้าวสาก ปี 63
ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
ทำห่อข้าวสากในต่างแดน
ตึ่ง ตึง ตึ้ง.. ตึ่ง ตึง ตึ้ง / ตึ่ง ตึง ตึ้ง.. ตึ่ง ตึง ตึ้ง...
"ฮะโหลแม่ ว่าจังได๋"
เสียงสาวปูถามแม่หลังจากที่กดรับสายวิดีโอคอลผ่านไลน์ เห็นแม่โทรมาตอนนี้รู้เลยว่าแม่ต้องมาย้ำเรื่องทำห่อข้าวสากแน่ ๆ เลย แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่าวันนี้ทำไมแม่โทรมาหาเราได้เอง เพราะปรกติเราจะโทรหา สาเหตุก็เพราะว่าแม่โทรออกไม่เป็นรับเป็นอย่างเดียว ฮ่า...ฮ่า… โซแคลสซิคมว้ากกก แต่ก็เป็นเรื่องจริง หลาย ๆ คนคงเข้าใจ เพราะญาติผู้ใหญ่หลายคนใช้ฟังก์ชันต่าง ๆ ของโทรศัพท์รุ่นใหม่ไม่เป็น รับเป็นอย่างเดียวเหมือนแม่ปู
(หมายเหตุ : ว่าจังได๋ เป็นภาษาอีสาน แปลว่า ว่ายังไง หรือ ว่าอย่างไร )
"กะอยู่จังสิหล่ะ เป็นจังได๋ทางนั่น ฝนตกบ่" คำถามของแม่ที่เราจะได้ยินทุกครั้งที่โทรคุยกัน ถ้าพูดถึงความหมายในประโยคที่แม่ตอบมา ก็คงจะหมายถึง "แม่ก็อยู่ตามอัตภาพ ทางนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ฝนตกบ่ ก็คือ ฝนตกไหม" ประโยคที่ว่า "ฝนตกไหม" นี้น่าสนใจมากค่ะ เพราะด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการอยู่การกิน หล่อหลอมเข้ามาในตัวในตนของแม่รวมถึงตัวปูด้วย ในฐานะที่เราเกิดมาในครอบครัวชาวนาทำให้เวลาเราคุยกัน คำพูดบางประโยคถึงไม่ได้สาธยายกันมาก แต่ลึก ๆ แล้วเราสองคนแม่ลูก เข้าใจกันดีว่า "ฝน" ในหน้านานั้นสำคัญมากขนาดไหน เป็นเรื่องปรกติไปแล้วที่แม่จะใช้คำถามนี้กับปูตลอดในหน้านา หรือในช่วงฤดูฝน ฤดูแห่งการทำนาของคนอีสาน ที่ยังยึดถืออาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก ถึงแม้ราคาข้าวจะดีดตัวสูงขึ้น หรือจะดิ่งลงต่ำขนาดไหน การทำนาก็ยังเป็นอาชีพหลักของบางครอบครัวอยู่ดี
อย่างพ่อแม่ปูก็ยังคงยึดอาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก แม่พูดกับปูบ่อย ๆ ว่าถ้าไม่ทำนาก็ไม่รู้จะทำอะไร แม่เล่าให้ฟังว่าตั้งแต่แม่จำความได้ "พ่อตู้กับแม่ตู้" คอยบอกคอยสอนอยู่ตลอดว่า อย่าให้ข้าวเปลือกหมดเล้า อย่าให้ข้าวสารหมดไห ประโยคนี้แม่ก็มาบอกกับลูก ๆ ต่อ และก็ยังมีคำสอนอีกหลายอย่างที่แม่คอยบอกประจำ และหนึ่งในนั้นคือ "การแต่งห่อข้าวสาก" และที่แม่ตั้งใจโทรหาเราในครั้งนี้คือเตือนให้ทำห่อข้าวสากไปวางไว้ตามป่าใกล้บ้าน เพื่อให้บรรพบุรุษที่ล้มหายตายจากไปแล้วได้มารับข้าวสากที่เราเตรียมไว้ให้นั่นเอง ตลอดจนวิญญาณต่าง ๆ ที่อยู่ในละแวกบ้านจะได้รับบุญครั้งนี้ด้วย
(หมายเหตุ : 1. พ่อตู้ เป็นภาษาอีสาน แปลว่า ตา 2. แม่ตู้ แปลว่า ยาย )
"ข้าวสากเด้อ ข้าวสากเด้อ อย่าลืมเด้อ บุญใด๋สิลืมกะลืมได้ แต่บุญข้าวสากห้ามลืม พ่อตู้แม่ตาเฮาเพิ่นถ้าอยู่ แต่มะลางพ่อมะลางแม่เพิ่นบอกมา ให้ลูกแต่งห่อข้าวสาก เอาไปหย่ายในป่าแถวบ้าน มีบ่ป่าถ้ามีกะแต่งแล้วไปหาหย่ายเด้อ" เสียงแม่ปูบอกพลางย้ำถึงความสำคัญ ในทุก ๆ ปีแม่ก็จะบอกแบบนี้ จนปูจำได้ขึ้นใจ
(หมายเหตุ : 1. มะลางพ่อมะลางแม่ เป็นภาษาอีสานแปลว่า สมัยพ่อสมัยแม่ หรือจะแปลเป็นความหมายโดยนัย คือ สมัยพรรพบุรุษ 2. หย่าย เป็นภาษาอีสาน แปลว่า กระจาย)
"มื้ออื่นแมนบ่แม่" ปูถามย้ำเพื่อความมั่นใจ เพราะบุญข้าวสากในแต่ละปีไม่ได้ตรงกัน ขึ้นอยู่กับว่าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ตรงกับวันอะไรก็วันนั้นแหละเป็นวันบุญข้าวสาก
(หมายเหตุ : มื้ออื่น เป็นภาษาอีสาน แปลว่า พรุ่งนี้ )
"แมน..ของหวานของคาว คำหมากกอกยามีบ่ ข้าวดำข้าวแดง พยายามหาใส่" เสียงแม่ย้ำถึงเครื่องข้าวสากว่าต้องใส่อะไรไปบ้าง แอบมีความหวังว่าลูกต้องทำ ฮ่า...ฮ่า…
(หมายเหตุ : 1. คำหมาก เป็นภาษาอีสาน หมายถึง ชุดเสี้ยนหมากสำหรับเคี้ยว ที่เตรียมไว้เป็นคำ ๆ 2. กอกยา หมายถึง มวนบุหรี่ 3. ข้าวดำ คือ ข้าวที่ได้จากการนำข้าวเหนียวปั้นเป็นคำ นำไปถูกับก้นหม้อที่มีสีดำจากการใช้งาน 4. ข้าวแดง คือ ข้าวที่ได้จากการนำข้าวเหนียวปั้นเป็นคำนำไปผสมกับปูนแดง)
"เดี๋ยวหนูไปหาเบิ่งเด้อมีหยังแนแม่ สิได้แต่งไปหย่าย" ปูก็บอกแม่ไป พลางก็มโนเครื่องข้าวสากที่บ้าน ว่าพอจะมีอะไรใส่ได้บ้าง
"เอ้าสำนี่ล่ะสั่น แม่สิบอกว่าคันโทรมามื้ออื่นบ่อยู่เฮียนเด้อ วันศีลแม่สิเข้าวัด" ทุกวันพระช่วงเข้าพรรษาแม่ปูจะไปถือศีลปฏิบัติธรรมที่วัดโนนโพธิ์ ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน พร้อมกับแม่ขาวหลาย ๆ คนในหมู่บ้าน และทุกครั้งก่อนแม่จะไปแม่ก็จะบอกให้รู้ก่อนทุกครั้ง
หลังจากที่วางสายแม่เสร็จ ปูก็เริ่มนึกภาพห่อข้าวสากที่จะทำว่าจะจัดยังไง มองเห็นจานพลาสติกก็น่าจะพอดีใส่ของคาวของหวานได้ แต่มานึกอีกทีจานพลาสติกก็ย่อยสลายไม่ได้ แถมเอาไปวางไว้ตามป่าตามรั้ว เวลามองไปคงขาวโพลนไม่เข้ากับธรรมชาติที่สวยงามแน่ ๆ ขัดหูขัดตาว่างั้น ฮ่า..ฮ่า...นึกไปนึกมาใบของต้นมะเดื่อฝรั่งที่เราเอามารองผักบ่อย ๆ ก็น่าจะใช้ได้นี่นา พอนึกขึ้นได้ก็รีบบึ่งไปที่ต้นมะเดื่อฝรั่งบ้านป้าข้าง ๆ เลยค่ะ เก็บมาได้ 6 - 7 ใบ ก็จัดแจงล้างทำความสะอาดตัดเอาก้านออกจะได้ไม่เกะกะ หลังจากนั้นก็เช็ดพอหมาด ๆ เพราะรีบต้องไปทำธุระต่อ พอจับใบมะเดื่อฝรั่งมาวางเรียงกันก็ยังไม่พอใจ สาวปูเริ่มเยอะกับตัวเอง ฮ่า..ฮ่า.. คือกลัวว่าถือ ๆ ไปแล้วเครื่องข้าวสากจะหล่นไง ก็เลยค้นหาไม้มาเสียบใบมะเดื่อฝรั่งที่วางซ้อนกันไว้แล้ว เสียบไปเสียบมาฐานเริ่มมั่นคง ปูก็เริ่มจัดเครื่องข้าวสากใส่ในถาดใบมะเดื่อฝรั่งเลยจ้า
เครื่องข้าวสากที่ปูใส่ในถาดใบมะเดื่อฝรั่งมีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ
ขนมหวาน M & M
ขนมปังกรอบรสเค็ม
ไข่ต้ม
พริกป่น
ข้าวคั่ว
เนื้อม้าอบแห้ง
ข้าวสวยโรยขมิ้น
ช็อกโกแลต
พอได้เครื่องครบ (ตามอัตภาพซึ่งจริง ๆ ต้องมีเครื่องเยอะกว่านี้ค่ะ) ปูก็เดินดุ่ม ๆ ลงไปในสวนที่บ้่านจนถึงริมรั้ว และมุดกิ่งไม้เข้าไปหาที่เหมาะ ๆ พอจะวางถาดข้าวสากไว้ได้ตามรูปค่ะ
สำหรับคนอีสานนั้น วันพระขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 จะถือเป็นบุญข้าวสาก ซึ่งประเพณีในทุก ๆ ภาคก็มีเช่นกัน แต่จะเรียกชื่อแตกต่างกันไป
ภาคเหนือเรียกว่า "บุญสลากภัตร"
ภาคอีสานเรียกว่า "บุญข้าวสาก"
ภาคกลางเรียกว่า "บุญข้าวสารท"
ภาคใต้เรียกว่า "บุญชิงเปรต"
วัฒนธรรมประเพณีของแต่ละพื้นที่ มีที่มาที่ไปและมีคุณค่าทางการศึกษามาก เพราะทำให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของท้องที่นั้น ๆ ด้วย อย่างบ้านเรามีงานบุญข้าวสาก ที่อิตาลีก็มีวันของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วเช่นกันค่ะ ที่อิตาลีจะเรียกว่า Giorno dei morti วันนี้ที่อิตาลีก็จะนำดอกไม้ไปประดับและนำเทียนไปจุดที่สุสานให้กับบรรพบุรุษของพวกเขา เพื่อเป็นการระลึกถึงบุคคลในครอบครัวที่ล่วงลับไปแล้วค่ะ ส่วนประเพณีของไทยเราก็นำเครื่องข้าวสากเป็นสัญลักษณ์นั่นเองค่ะ
ในส่วนของปูถึงแม้จะอยู่ไกลบ้าน วัฒนธรรมใดที่พอจะสืบต่อจากบรรพบุรุษได้ก็จะพยายามทำให้เต็มที่ค่ะ ถึงแม้ว่าบางสิ่งบางอย่างที่ทำแล้วจะออกมาไม่ 100 % เหมือนที่อยู่เมืองไทยเราก็ตามที อย่างห่อข้าวสากที่ปูเตรียมก็แตกต่างจากห่อข้าวสากของแม่ที่อยู่เมืองไทย แต่อย่างน้อยการได้เข้าใจถึงความหมายและความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณีนั้นมีคุณค่ายิ่งกว่าค่ะ เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของไทยเราด้วยค่ะ
สำหรับวันนี้ปูก็ต้องขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่แวะมาเยี่ยมบล็อกอีสานพันทางนะคะ หวังว่าบทความเรื่องบุญข้าวสากต่างแดน จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในต่างแดนเหมือนกับปู เผื่อปีหน้าฟ้าใหม่อยากทำห่อข้าวสากบ้าง จะได้เตรียมตัวไว้ค่ะ สำหรับวันนี้ปูต้องขอลาทุกคนไปก่อนนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปค่ะ ขอบคุณและสวัสดีค่ะ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ของผู้เขียนได้ตามรายละเอียดด้านล่างนี้คะ
📱 ช่องทางการติดต่อ 📲
Line: Siriwanna9
Facebook: Siriwanna W. Pavese
📑 ติดตามผลงานได้ที่ 📑
📝Blockdit 📝
📷 YouTube 📷
ช่อง: อีสานพันทาง
ช่อง: Diary On Tour
ได้เรียนรู้ไปด้วยเลยดีจังค่ะ
ตอบลบขอบคุณมากค่ะเจ้ลาล่า มีอะไรเพิ่มเติมได้นะคะ 😍😍🙏🙏
ลบสุดยอดมากเลย
ตอบลบขอบคุณปราด้ามากเลยค่ะ ไปทำบุญข้าวสากมาไหมคะ สนุกไหม
ลบเขียนได้จับจิตมากค่ะ ถ่ายทอดความเป็นวัฒนธรรมอีสานได้อย่างดีมาก
ตอบลบขอบคุณมากค่ะที่แวะมาเยี่ยมมาอ่านประเพณีบุญข้าวสากแบบอีสานพันทาง 🙏🙏🙏😍😍😍
ลบอ่านเพลินเลยค่ะ น้องปู ได้รู้จักภาษาอีสานด้วย
ตอบลบขอบคุณมากค่ะพี่แหม่ม ที่บ้านมีแบบนี้ไหมคะ
ลบสวัสดีค่ะ หนูชอบบทความของพี่ค่ะ เดี๋ยวหนุย้อนอ่านอีกทีนะคะ คิดถึงค่ะ 😘😘😘😘
ตอบลบป๋อมมมมมม คิดถึงอ่ะ สบายดีไหมคะ มา ๆ แวะมาค่ะยินดีต้อนรับนะ
ลบ